Home / Blogs / คุยกับ ปูเป้-ศศพินทุ์ ศิริวาณิชย์ ผู้กำกับ Vessel ที่ชวนให้ผู้หญิงดื่มด่ำกับพลังและร่างกายที่เรามี

คุยกับ ปูเป้-ศศพินทุ์ ศิริวาณิชย์ ผู้กำกับ Vessel ที่ชวนให้ผู้หญิงดื่มด่ำกับพลังและร่างกายที่เรามี

Copied to clipboard
Published: 10 Jan 2024

 

 

‘พลังของมดลูก’ คือคำที่น่าสนใจอย่างยิ่งจากบทสนทนาของเรากับ ปูเป้-ศศพินทุ์ ศิริวาณิชย์ ศิลปินที่ทำงานกับความเป็นหญิงมาตลอดหลายปี ล่าสุดนี้เธอริเริ่มโปรเจกต์ Vessel ชักชวนใครก็ตามที่นิยามตัวเองว่าเป็นหญิง มาร่วมค้นหาบางสิ่งบางอย่างภายใต้คำนิยามนี้และถ่ายทอดมันออกมาผ่านการเคลื่อนไหวร่างกาย

 

คำว่า ‘พลังของมดลูก’ หลายคนอาจนึกถึงพลังที่รุนแรง แกร่งกร้าว เผาผลาญ เต็มไปด้วยแรงขับที่พร้อมจะต้านแรงกดทับต่างๆ ที่สังคมปิตาธิปไตยมีต่อเพศหญิง แน่นอนพลังเหล่านี้ถูกมองเห็นมากขึ้นทุกวัน และถูกต้องแล้วที่มันถูกมองเห็น 

 

หากแต่พลังของมดลูกกินความได้มากกว่านั้น มันอาจเป็นพลังที่พลิ้วไหว นุ่มนวล โอบกอด จนกลายเป็นพื้นที่ปลอดภัยให้กันและกันโดยไม่ต้องถีบใครออก อาจเพราะในบางบริบท ในบางร่างกาย ในบางความเป็นหญิง มีทั้งส่วนที่ถูกกดทับและต้องการการปลดแอกด้วยวิธีแบบหนึ่งๆ แต่ก็มีส่วนที่ตั้งโฟกัสไปที่สิ่งอื่นด้วย ซึ่งนี่เป็นสิ่งที่ปูเป้เองได้ค้นพบระหว่างการทำ Vessel เช่นกัน

 

ที่สุดแล้วความเป็นหญิงเป็นอย่างไร เราจึงไม่อาจนิยามได้ด้วยความหมายเดียว คงเป็นอย่างที่ปูเป้บอกกับเราว่า “ถ้าคุณอยากรู้จักผู้หญิงมากกว่านี้คุณต้องไปรู้จักเขา ไม่ได้มีใครสามารถเป็นตัวแทนของความเป็นหญิงได้” 

 

ว่าแล้วก็ไปอ่านบทสนทนาทั้งหมดกัน

 

Q: คุณเริ่มสนใจประเด็นความเป็นหญิงตั้งแต่ตอนไหน 

 

A: นานมากแล้ว เราครุ่นคิดและทำงานเรื่องนี้เสมอๆ คือเวลาทำงานเรามักจะเริ่มจากตัวเองก่อน ซึ่งเราสนใจความเป็นผู้หญิง เราชอบความเป็นผู้หญิงของตัวเอง เราชอบที่เกิดมาเป็นผู้หญิง เราไม่เคยรู้สึกว่าเราอิจฉาเพศอื่น 

 

ไม่ได้หมายความว่าเรายากลำบากน้อยกว่าเขานะ เพียงแต่เราแฮปปี้มากกับความเป็นหญิงของเรา มันเลยออกมาในงานเรา ในหลายๆ รูปแบบ มีน้ำเสียงที่ต่างกันไป ตั้งแต่น้ำเสียงเชิงสงสัย น้ำเสียงเชิงโกรธเกรี้ยว อย่างงานที่ทำตอนเพิ่งอายุสามสิบก็จะโกรธๆ หน่อย จะรู้สึกว่าความเป็นหญิงถูก challenge หลายอย่าง ต้องเผชิญความคาดหวังมากมาย เราเคยทำงานกับร่างกายของผู้หญิงที่เหมือนเป็นตัวแทนของเพอร์เฟกต์ชัน และเราหงุดหงิดกับความเป็นบ้าเป็นบอกับการคาดหวังความเพอร์เฟกต์ของประเทศนี้ เพราะฉะนั้นเมื่อมองกลับไป งานของเราค่อนข้างจะ overlap ระหว่างความเป็นผู้หญิงและร่างกายตลอด แล้วก็รวมถึงไอเดียที่ประเทศนี้ทำให้ผู้หญิงมีต่อตัวเองและสิ่งที่ตัวเองอยากเป็นด้วย 

 

Q: มาถึงตอนนี้ที่คนเริ่มพูดกันถึงเรื่องสิทธิและความเท่าเทียมมากขึ้น มองว่าสิ่งที่ Challenge ความเป็นหญิงในสังคมไทยมีอยู่ในรูปแบบไหนบ้าง

 

A: มีช่วงหนึ่งที่เราคิดว่ามันมีอิสระมากขึ้นแล้ว แต่พอได้ทำ Vessel นี่แหละ และพอได้คุยกับคนหลายๆ คนก็พบว่า แม้ว่าในพวกเราจะทำงานกันอย่างสบายแล้ว แต่ข้างนอกมันไม่ได้เป็นแบบนี้ซะทีเดียว 

 

เราคิดว่าสิ่งที่เปลี่ยนไป ที่เห็นอย่างง่ายที่สุดคือ คนที่จะกล้าต่อว่าผู้หญิงที่แต่งตัว ‘แปลกๆ’ ไม่เหมือนชาวบ้าน มีน้อยลงแล้ว เขากล้าที่จะตำหนิ หรือประณามอย่างชัดเจนน้อยลง ถามว่ามันคือการยอมรับโดย 100% หรือเปล่า เราว่ามันก็ยังไม่ใช่ แต่ว่าเราเริ่มเห็นบาลานซ์มากขึ้น เสียงของพวกเราเริ่มดังขึ้น ว่าเราสามารถทำอะไรที่เราอยากทำก็ได้นี่หว่า มันเป็นสิ่งใหม่ที่คนค่อยๆ เรียนรู้และเปิดรับมัน 

 

Q: มองว่าอะไรที่ทำให้คุณชอบความเป็นหญิงของตัวเอง เป็นไปได้ไหมว่าคนที่เป็นไปตามมาตรฐานความงามของสังคมมักจะไม่เจอกับแรงกดทับมากเท่าคนอื่นๆ คิดว่าสิ่งนี้เกิดขึ้นกับคุณหรือเปล่า

 

A: ถ้าว่ากันตรงๆ มันก็เป็นไปได้นะ เราถือว่าถ้าพูดกันตามมาตรฐานโง่ๆ ของสังคม เราก็นับว่าพอโอเค เพราะฉะนั้นมันอาจจะจริงอย่างประโยคนั้น ว่าเราอาจจะรับรู้ถึงความเป็นหญิงต่างกับคนที่ไม่ถูกมองว่าเป็นไปตามค่านิยมของสังคม มันก็เป็นไปได้ เราไม่รู้ว่าเหตุอันใดคนถึงเกิดมาด้วยหน้าตาต่างๆ กัน แต่พอเรามาเป็นแบบนี้เรารู้สึกว่ามันทำให้เราได้เห็นความงามมั้ง ความงามที่มันมากับผู้หญิง

 

และเรารู้สึกว่ามันมีหลายกรณีที่ช่วยยืนยันกับเราเหมือนกัน ว่าความงามมัน feminie ต่อให้เป็นความงามในเพศชาย มันก็จะมีลักษณะที่ feminine อยู่ และเราก็รักมาก ที่ body มันสามารถโอบรับความงามเหล่านี้ได้อย่างเต็มเสียง เต็มภาคภูมิ จะเรียกว่ามันเป็นพริวิเลจได้มั้ย ไม่แน่ใจ แต่เราเรียกว่ามันเป็นลักษณะพิเศษ เรารักและหวงแหนสิ่งนี้มาก เรารักที่ร่างกายเป็น channel โดยตรงของสิ่งนี้ 

 

Q: คำว่า ‘ความงาม’ ในทางร่างกาย หมายความถึงอะไรได้บ้าง 

 

A: ยากจัง (หัวเราะ) มันอาจจะต่างกับคนอื่นนะ เรารู้สึกว่า quality ของความงามหรือ beauty มันเป็นเส้นโค้ง เส้นที่ไม่ได้ตรงเป๊ะ ถ้าเมื่อไหร่เป็นเส้นตรงเป๊ะ เรียกว่าเป็นความงามได้ยาก คือมันใช่แหละ อย่างในสถาปัตยกรรมที่ใช้เส้นตรงเป๊ะ มันก็สวย แต่เราว่าความสวยแบบนั้นมันทิ่มแทง มันสว่างไปหน่อย 

 

ความงามแบบที่เรา appreciate คือสิ่งที่ใกล้เคียงกับความธรรมชาติ ความงามคือภาวะที่ทำให้เรา surrender มันเหมือนธรรมชาติในแง่นี้ เวลาอะไรที่มันงามซะจนเวลาหยุด ตัวเราก็หยุด บางอย่างหยุด เพื่อจะรับมันเข้าไปในตัว ให้มันซึมซาบเข้าไปในตัว เราว่าร่างกายของผู้หญิงมีพริวิเลจนี้ คือมีเส้นที่มันไม่ตรงเป๊ะ เรามีสิ่งนี้อยู่ในร่างกาย ในวิธีคิด วิธีพูด

 

Q: เคยมีอะไรที่เข้ามากระทบจนต้องกลับมาตั้งคำถามกับจุดยืนเรื่องความเป็นหญิงของตัวเองมั้ย 

 

A: มี เหตุการณ์อย่างเช่น sexual harassment ที่ก็เพิ่งเกิดขึ้น คือมันไม่ได้ทำให้เราคิดว่าเราไม่อยากเกิดเป็นหญิง แต่มันทำให้เราเกิดคำถามว่ามันเกิดอะไรขึ้นในโลกนี้ เลยทำให้มีการสั่งสอนให้คนอีกคนหนึ่งหรืออีกเพศหนึ่งคิดว่าเขาทำแบบนี้กับอีกเพศหนึ่งได้ เราเสียใจเหมือนกันที่การที่เราเป็นผู้หญิงทำให้เขาคิดว่าทำอะไรกับเราก็ได้ มันรู้สึกแบบ ไอ้เชี่ย โลกนี้มันหมุนไปแบบไหนนะ มันถึงผลิตคนแบบนี้ขึ้นมา ที่เขาคิดว่าเขาทำแบบนี้ได้ในที่ตรงนั้นแล้วทำเลย

 

Q: กลับมาที่ Vessel ระหว่างกระบวนการ ได้ค้นพบอะไรใหม่ๆ เกี่ยวกับความเป็นหญิงบ้างไหม

 

A: เราได้มุมมองใหม่เยอะมาก เยอะจนเราเปลี่ยนวิธีถาม เราคิดว่าข้อสรุปที่เราได้ก็คือ เราสรุปไม่ได้จริงๆ ว่าความเป็นผู้หญิงคืออะไร แล้วจริงๆ มันก็เปลี่ยนการทำงานของเรานิดหนึ่ง ตอนแรกๆ เราจะมีชุดคำถามที่ชัดเจนประมาณหนึ่ง มากับสมมติฐานบางอย่างที่เราหยิบยกมาแล้วอยากทดลองกับนักแสดง 

 

แต่ยิ่งพอได้คุยกับทุกคน แค่นั้นก็เปิดกะโหลกมากแล้ว ว่าชุดคำถามที่เราตั้งขึ้นมามันไม่เวิร์ก และไม่จำเป็นต้อง push มัน เพราะทุกคนคิดไม่เหมือนกัน ไม่ใช่แค่นิยามรวมของความเป็นหญิง แต่คือภาวะของแต่ละคนในช่วงชีวิตนั้นๆ ด้วย ว่า ณ เวลานี้ ผู้หญิงคนนี้กำลังทำอะไรอยู่ในชีวิต มีความสัมพันธ์แบบไหนกับคนรอบตัว วิธีมองตัวเอง วิธีรับรู้ความเป็นหญิงในตัวเองมันต่างกันไปหมดเลย เราเลยรู้สึกว่า เราไม่มีสิทธิเลยที่จะทำตัวเป็นผู้รู้และเอานิยามแบบ global ไปใส่ให้ทุกคน 

 

ทำให้การทำงานช่วงหลัง เราปล่อยให้นักแสดงเป็นในแบบที่เป็นบนเวทีดีกว่า อะไรก็ตามที่เกิดจาก 6 บอดี้นี้ ก็คือความเป็นผู้หญิง และหวังว่าคนดูเห็นบอดี้เหล่านี้แล้วจะนึกถึงบอดี้ตัวเองหรือบอดี้อื่นๆ ในชีวิต โดยที่มันจะเหมือนหรือไม่เหมือนกับที่เห็นก็ได้ เพียงแต่เราอยากแชร์พื้นที่นี้ด้วยกันให้เราได้ระลึก ได้ย้อนคิด ได้ถาม

 

และเราไม่ได้บอกว่าผู้หญิงคือแบบที่เห็นจาก 6 ร่างกายนี้เท่านั้น มันไม่จริงอยู่แล้ว สิ่งที่เราอยากให้หกร่างกายนี้ได้เป็นคือการเป็นตัวเอง แล้วถ้าคุณอยากรู้จักผู้หญิงมากกว่านี้คุณต้องไปรู้จักเขา ไม่ได้มีใครสามารถเป็นตัวแทนของความเป็นหญิงได้ 

 

Q: อยากถามถึงสมมติฐานแรกที่คุณพับเก็บไป มันคืออะไร

 

A: สมมติฐานแรกเลยเรานึกถึงการกดทับ เราค่อนข้างเชื่อและฝังใจว่ามันจะต้องมีการกดทับในด้านใดด้านหนึ่ง เรานึกถึงการกดทับจากโครงสร้างภายนอกด้วย ซึ่งเราว่ามันก็มี แต่ว่าพอคุยแล้ว มันไม่ใช่โฟกัสของทุกคน บางคนก็พูดถึง บางคนก็ไม่ได้พูดถึง และในเมื่อมันไม่ใช่โฟกัสเราก็ไม่จำเป็นต้องไฮไลต์สิ่งนี้ เพราะมันไม่ได้ถูกต้องสำหรับคนคนนี้ และช่วงหลังๆ ยิ่งได้พูดคุยกันเพิ่มเติม เรารู้สึกว่า ภาระที่ยิ่งใหญ่ของผู้หญิงวันนี้ ที่นี่ กรุงเทพ ชนชั้นกลาง ประเทศนี้ รัฐบาลนี้ มันคือความกดดันต่อตัวเอง ทุกคนมาถึงเวิร์กช็อปด้วยความเหนื่อย เหนื่อยจากงาน จากสิ่งต่างๆ ทุกคนแค่อยากนั่งเฉยๆ อยากนั่งสบายๆ 

 

Q: ทีนี้เมื่อผู้หญิงมาอยู่รวมกันเยอะๆ หลายคนอาจจะเห็นภาพบางอย่างในแง่ลบ เช่นเรื่องของความเรื่องมาก เรื่องเยอะ การจัดอันดับความงาม ไม่ว่าจะโดยรู้ตัวหรือไม่รู้ตัว คุณเองเห็นภาพอย่างไรบ้างในการที่ผู้หญิงมาอยู่รวมกันอย่างเช่นในโปรดักชั่นนี้

 

A: เราคิดว่ามันเป็นไปได้ที่จะเป็นแบบนั้น เราเองก็เคยเป็นคนที่กลัวสิ่งนั้นหรือกระทั่งเคยทำให้สิ่งนั้นเกิดขึ้นเอง เวลาอยู่กับผู้หญิงเยอะๆ แต่เราคิดว่าเราผ่านมันมาแล้ว พอเรามีแว่นนี้มา แว่นที่เรามองเห็นความงามในคนทุกๆ คนแล้ว พอมาด้วยแว่นนี้เราก็ช่วยกันกับทุกคน สร้างพื้นที่ที่ไม่กีดกันใครออกไป 

 

เราคิดว่าถ้าเราเป็นผู้หญิงคนนั้นเมื่อสิบกว่าปีก่อน ที่ไปไหนเราก็จะมองหาว่าใครคือเบอร์หนึ่งของพื้นที่เราก็จะนำสิ่งนั้นมาในกระบวนการเรา แล้วต่อให้เราพยายามมี empathy สูงห่าเหวอะไร แต่ลึกๆ เราไม่เชื่อเราว่าทุกคนมีความงามได้ เราว่ากระบวนการแบบนี้ก็จะไม่เกิด

 

เราว่ามันมีส่วนที่เราผ่านพ้นสิ่งนั้นมาแล้ว และมันเป็นความตั้งใจในงานนี้ ที่เราจะไม่มองหาว่าว่าใครเก่งอะไรกว่าใคร แต่เราอยากหาว่าอะไรที่ shine ออกมาจากแต่ละคน อะไรเป็นสิ่งที่คนนั้นทำได้ดีและรู้สึกสบายใจที่ทำ นี่ก็ค่อนข้างจะเป็นงานของเราตลอดมา เพราะสิ่งที่จะแย่ที่สุดคือภาวะนั้นแหละ สภาวะที่ไม่มีใครสบายใจ เพราะรู้สึกว่ามันมีความแก่งแย่งกันตลอดเวลา ที่ว่าผู้หญิงทุกคนอยู่ด้วยกันมันน่ากลัว และดีใจมากที่ได้เห็นฟีดแบ็กจากทุกคนที่เข้ามาทำงานด้วยกันว่าผู้หญิงอยู่ด้วยกันมันไม่ได้น่ากลัว แล้วเราก็ได้เห็นทีหลังว่ามันไม่ได้น่ากลัวจริงๆ ด้วย แล้วก็ไม่ได้วี้ดว้ายโวยวายเท่าไหร่ด้วย เราอยู่กันแบบสบายๆ ทุกคนสบายใจที่จะอยู่ด้วยกัน

 

Q: ระหว่างเวิร์กช็อปกับนักแสดง คุณใช้ vagina exploration มาร่วมด้วย อยากให้เล่าถึงมันสักหน่อย 

 

A: Vagina exploration หรือการลองเข้าไปสำรวจอวัยวะเพศของตัวเอง มันเป็นสิ่งที่เราตั้งใจมาตั้งแต่แรกแล้ว และเราก็หามาตลอดว่าจะทำตอนไหน ทำยังไง เพราะพอพูดเรื่องความเป็นหญิง ยังไงมันก็เกี่ยวกับอวัยวะเพศ เราพบว่าผู้หญิงจำนวนมากในประเทศนี้ และอาจจะในอีกหลายประเทศในโลกนี้ ที่มีความสัมพันธ์ไม่ดีกับอวัยวะเพศตัวเอง แบบที่หวาดกลัวมัน ปฏิเสธที่จะแตะต้องมัน แต่ในขณะเดียวกันผู้หญิงคนเดียวกันนี่แหละ อนุญาตให้มีจู๋หรืออวัยวะใดๆ ของคนอื่นเข้ามาได้ โอเค มันเป็นเรื่องอารมณ์ทางเพศเนอะ เข้าใจได้ เราเองก็เป็นหนึ่งในนั้น ตอนที่ยังเด็กๆ กว่านี้ 

 

คำถามคืออะไรกันที่ทำให้ผู้หญิงกลัวการให้ตัวเองได้เข้าไปในอวัยวะเพศของตัวเอง เราเคยคุยกับเพื่อนคนหนึ่งเรื่องการใช้ถ้วยอนามัย เราเล่าให้เขาฟัง แล้วเขาโกรธเลย เขาบอกว่า แค่เป็นเมนส์ก็ลำบากจะตายอยู่แล้ว ทำไมจะต้องมาขอให้เขารักโลก ลดขยะ แล้วยังจะต้องเอานิ้วล้วงเข้าไปในจิ๋มแล้วรู้จักร่างกายตัวเองอีก เรารู้สึกว่าเขาไม่ได้โกรธเรา แต่เขาโกรธกับการต้องเข้าไปรู้จักอวัยวะนี้ ซึ่งเรารู้สึกว่าเราควรต้องรู้จักสิ มันสำคัญขนาดที่มันกำหนดสิ่งต่างๆ ในตัวเราเยอะมาก มันมีส่วนกับฮอร์โมนของเรา อารมณ์เรา สุขภาพเรา การจะมีเซ็กซ์ไม่มีเซ็กซ์ มีลูก ไม่มีลูก มัน dictate เราเยอะมาก เราควรจะได้รู้จักมันหรือเปล่า การเอานิ้วเข้าไปมันไม่ได้เป็น taboo ขนาดนั้น

 

เราว่าหลายคนยังติดอยู่กับความรู้สึกเรื่อง shame เยอะ ยังไม่ต้องพูดไปถึงการแตะต้องอวัยวะเพศตัวเอง หรือกระทั่งช่วยตัวเอง บางคนพอจับร่างกายตัวเองก็จะรู้สึก shame แล้วที่จะปล่อยให้ตัวเองเริ่มมีอารมณ์ เราเลยไม่อยากสัมผัสตัวเอง คือบางคนอาจจะไม่ได้คอมฟอร์ตกับร่างกายตัวเอง หรือมีบางอย่างที่ยังทำให้เรายอมรับตัวเองให้ทำสิ่งนี้ไม่ได้ บางคนก็เลยเลือกที่จะไม่โนบราด้วยเหตุผลว่ามันคือพื้นที่เซนซิทีฟ มันไม่โอเคสำหรับเขาที่จะเป็นผู้หญิงที่รู้สึกถึงพลังทางเพศของตัวเอง 

 

มีประสบการณ์หนึ่งที่เราเคยเล่าให้นักแสดงฟังเหมือนกัน คือเราเคยไปเวิร์กช็อปที่พะงันกับแฟน แล้วตอนนั้นมี ‘โยนีมาสสาจ’ นั่นเป็นครั้งแรกๆ ที่เราได้ลองสำรวจพื้นที่นั้นของตัวเอง และทำให้เรารู้สึกเป็น magical being เรารู้สึกเราเซ็กซี่ เราพลังสูง I shine rainbow everywhere เราพบว่าการได้รู้จักตัวเองมันทรงอำนาจมากๆ เราเลยอยากให้ผู้หญิงทุกคนต้องได้รู้จักสิ่งนี้ ทุกคนมีสิทธิเต็มที่ที่จะได้เข้าถึงอำนาจนี้ของพวกเรา 

 

Q: น่าสนใจที่นักแสดงท่านหนึ่งของ Vessel เคยให้สัมภาษณ์ว่าการต่อสู้ของผู้หญิงในบางครั้ง มันกลายเป็นการอยากเป็นแบบผู้ชาย อยากทำแบบผู้ชาย ทั้งที่ผู้หญิงก็มีพลังในแบบของตัวเอง คุณเองคิดเห็นกับประเด็นนี้อย่างไร

 

A: เรื่องนี้เราคุยกับแฟนเราที่เป็นผู้ชาย แล้วเราก็พบว่าสิ่งที่เราเรียกกันว่า toxic femininity มันมาจากความที่เราอยากเป็นสิ่งที่เราไม่ได้เป็น ยกเว้นเรื่องการเปลี่ยนเพศ อันนั้นมันเป็นอีกเรื่องหนึ่งเนอะ แต่ว่าสิ่งตั้งต้นของการรู้สึกเป็นอิสระของผู้หญิง มันไม่จำเป็นต้อง “ฉันต้องเป็นเหมือนผู้ชาย ฉันถึงจะเป็นอิสระ” มันควรจะต้องมีวิธีเป็นอิสระในแบบที่เราเป็นอยู่แล้ว ไม่ใช่ว่าเราต้องเป็นแบบผู้ชายก่อนถึงจะเป็นได้ 

 

...



ถ้าพูดถึงเฟมินิสม์ยุคต้น มันอาจเป็นเพราะเราไม่รู้จะเริ่มต้นยังไง มันไม่เคยมีตัวอย่างให้เห็น เราเห็นอิสระแบบเดียวก็คือการเป็นผู้ชาย มันเลยเกิดเป็นการต่อสู้จากบันไดขั้นแรกนั้น แล้วสังคมโลกก็ค่อยๆ พ้นออกมา เราว่าตอนนี้โลกเราพ้นจากเฟมินิสม์ยุคแรกแล้ว แต่เราก็ยังเห็นร่องรอยของการวิธีคิดแบบนั้นอยู่ วิธีคิดแบบยุค 60s - 70s ผู้หญิงใส่สูท ใส่กางเกง ต้องพูดจาโผงผาง ต้องตัดสินใจแข็งแรงฉับไว ต้องเหมือนผู้ชาย ถึงจะได้รับการยอมรับ

 

แล้วมันก็มีผู้หญิงรุ่นโตกว่าเรา ที่เขาประสบความสำเร็จ เพราะเขาได้อยู่จุดนั้น ได้เป็นเหมือนผู้ชายแล้ว ดังนั้นมันเลยมีหลายเรื่อง เรื่องเพศก็เรื่องหนึ่ง เรื่องเจเนอเรชันก็อีกเรื่องหนึ่ง พอคนเจนนั้นต่อสู้จนได้สิ่งนั้นแล้ว เขาก็เลยต้องหวงแหนสิ่งที่เขาต่อสู้จนได้มา มันก็เลยเกิดเจเนอเรชันแกปแบบนี้เหมือนกัน ที่รุ่นเรา หรือรุ่นเด็กกว่าเรา อาจจะรู้สึกว่า เฮ้ย มันต้องมีทางสิที่จะเป็นผู้หญิงในแบบของเราได้ที่ เพียงแต่ยังเป็นคนรุ่นนั้นที่ยังเป็นกำหนดนโยบาย กำหนดพฤติกรรม กำหนดคุณค่าของสังคม มันเลยมีบางอย่างที่เหลื่อมๆ กันอยู่ กับสิ่งที่คนรุ่นเราหรือรุ่นเด็กกว่าเราอยากจะพาไป

 

Q: ในไทยมันยิ่งยากไหม เมื่อมาถึงตอนนี้เราเจอเวฟหลังๆ ของเฟมินิสม์แล้ว แล้วเราก็หยิบวิธีคิดเหล่านี้มารบกับสังคมที่ยังไม่เคยผ่านเฟมินิสม์ยุคแรกด้วยซ้ำ ยังไม่เคยได้ร่วมกัน develop วิธีคิดที่มีต่อประเด็นเหล่านี้ด้วยกันเลย

 

A: ไม่ใช่แค่เรื่องเฟมินิสม์ แต่มีอีกหลาย Ideology ที่เป็นแบบนี้ คือมันจะมีคนที่คิดก่อน เห็นก่อน แล้วไปหยิบมาใช้ ทุกคนยังไม่ทันเข้าใจดี มีคนคิดใหม่ เห็นใหม่ อยากเอาสิ่งใหม่เข้ามาเลย มันทำให้คนที่ยังไม่ทันเข้าใจสิ่งแรกเขวและสับสนได้เหมือนกัน 

 

อย่างประชาธิปไตยก็เหมือนกัน เราไม่ได้บอกว่าประเทศไทยไม่พร้อมกับประชาธิปไตยนะ เพียงแต่มันต้องทำงานกับสิ่งนี้เยอะมาก เพื่อให้ทุกคนเข้าใจตรงกันก่อน ซึ่งประเทศก็ไม่ได้แคร์ที่จะทำงานกับสิ่งนี้เลย คนเอาเข้ามาก็เอาเข้ามาใช้ ขณะที่รัฐบาลใช้แค่ในเอกสาร แค่ติ๊กถูกว่าได้ใช้ พอลูกใหม่เข้ามา คนก็งง แล้วโลกก็หมุนไปเร็วจนเราเห็นการปะทะกันเต็มไปหมด แล้วก็เห็นคนที่ยังติดค้าง บางคนก็งง สับสน แล้วแปรเปลี่ยนเป็นความหงุดหงิด ความโกรธๆๆๆ อย่างที่เห็นกันทุกวันนี้

 

Q: สิ่งที่นำเสนอใน Vessel เอง อาจนำไปสู่การปะทะกันในลักษณะนี้ไหม เช่นสำหรับบางคนที่อาจชินกับวิธีมองความเป็นหญิงแบบหนึ่งๆ แล้วกระโจนเข้ามาเจอกับวิธีนำเสนออีกแบบหนึ่งเลย

 

A: มีเหมือนกัน มันจะมีฉากที่นักแสดงจะถามกันว่า “เจ็บมั้ย” “ไม่เจ็บ” “เป็นอะไร” “เปล่า” มีคนที่ได้ดูที่เป็นผู้หญิง เขาก็ให้ฟีดแบ็กว่าเขาไม่ได้เป็นผู้หญิงแบบนี้ ที่จะคอยปฏิเสธว่าไม่ได้เป็นอะไร ทั้งที่เป็น ซึ่งสำหรับเราดีใจที่ได้ฟังฟีดแบ็กแบบนี้ นั่นแปลว่างานมันทำงานกับเขาแล้ว ขณะที่สำหรับเรา มองว่าบางทีการที่ผู้หญิงบอกว่าไม่เป็นไร มันไม่ใช่การเล่นแง่เสมอไปเนอะ มันอาจหมายถึงว่าเราขอเวลาไปจัดการกับตัวเอง คือเราไม่ได้โอเคหรอก แต่เราจะไปจัดการมันเว้ย อาจยังไม่ใช่ตอนนี้หรอก แต่เราจะจัดการมันได้เอง ดังนั้นนี่เลยเป็นอีกสภาวะของผู้หญิงที่เราสนใจ

 

Q: คิดอย่างไรกับการที่ผู้หญิงหลายคนมักจะเป็นปฏิเสธความเป็น ‘ผู้หญิ้งผู้หญิง’ 

 

A: เข้าใจได้และเราก็เป็นแบบนั้น ความเป็นหญิงที่เราหลงใหลก็ไม่ใช่แบบที่ต้องใช้สินค้าสีชมพู กระโปรงบาน หรืออะไรทำนองนั้น เราว่าการปฏิเสธภาพเหล่านั้น มันคือการปฏิเสธภาพที่พวกเราไม่ได้วาดเอง เป็นภาพที่สังคมมันกำหนดกรอบไว้ให้ ซึ่งมันน่าเสียดายตรงที่ แล้วถ้าเราเป็นคนที่ชอบสีชมพูจริงๆ แต่เราไม่อยากกลายเป็นภาพนั้น เราก็เลยทำให้ตัวเองไม่ใช้สีชมพู เราว่าน่าเสียดายมาก เราเลยทำงานกับพื้นที่ตรงกลางนั้นนั่นแหละ

 

Q: อยากบอกอะไรกับผู้หญิงหรือใครก็ตามที่ได้อ่านบทความนี้มาจนถึงตอนนี้

 

A: สิ่งสำคัญสำหรับเราคือเราอยากให้ผู้หญิงทุกคนได้รู้สึกถึงพลังอำนาจในตัวเอง เราว่าผู้หญิงเป็นเพศมหัศจรรย์ อวัยวะเพศของเรามหัศจรรย์ ไม่ว่าคุณจะชอบเพศไหนก็ตาม เป็นอีกเรื่อง แต่การที่เรามีมดลูกในตัวเรา เราควรจะรู้ว่าเราเป็น Magical Being เราไม่ควรอยู่ในสังคมที่บอกเราว่าเราไม่มีค่า 

 

เราเคยคุยกับเพื่อนว่าจริงๆ ที่ปิตาธิปไตยมันกดๆๆๆ ขนาดนี้เพราะมดลูกมันพลังสูง มันทั้งเฉลียวฉลาด ยืดหยุ่น และ Mysterious เป็นอะไรที่เพศชายไม่เข้าใจ ไม่มีวันเข้าใจ มันเลยคงจะน่ากลัวมากๆ สำหรับเขา เขาเลยต้องสร้างโลกแบบนั้นขึ้นมาเพื่อกดมันเอาไว้นั่นแหละ



The original article was published on Mirror Thailand and can be found on https://mirrorthailand.com/conversation/conversation/100405  

SIMILAR ARTICLES
2024-07-25 12:04:00
Pickleball is a blend of tennis, ping-pong, and badminton. Padel, on the other hand, is played on a larger, enclosed court with walls.
2024-04-23 13:07:00
The rise of AI-generated deepfake voices presents a unique set of challenges for multimedia projects requiring authentic human voiceovers.
2024-08-01 11:18:00
From narration that sends shivers down your spine to vocal performances that make animated characters leap off the screen, voiceovers are the invisible inks that takes movies from good to unforgettable.
2023-11-22 14:21:00
Voiceover and audiovisual is a powerful communication channel for businesses looking to attract customers and engage with employees. It allows firms to speak directly to people on a more personal level and engage with them in ways not always possible through standard text-based communications.
2024-01-10 12:45:00
Suranya (Organ) Poonyaphitak enhanced her expertise by participating in the Asian Producers’ Platform (APP) Camp 2023, held in Bangkok and Chiang Mai from 1-9 April 2023.
Get in touch
mail PROJECTV@EQHO.COM
© 2024 Project V. All rights reserved.
V PARTNERS
Your subscription could not be saved. Please try again.
Your subscription has been successful.